ผ้าเบรกแตกหักแบบนี้…เกิดจากอะไร??
วันนี้ผมมีเรื่องราวของผ้าเบรกรถบรรทุกมาเล่าให้ฟังครับ เผื่อวันไหนเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ทุกๆ ท่านจะได้เข้าใจและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ภาพที่ 1
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับผู้ใช้รถบรรทุกที่เป็นรถวิ่งขนส่งผลไม้ในพื้นที่ภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน คือบริเวณเพลาหลังด้านขวา ดังภาพที่ 1 ด้านบน โดยเกิดขึ้นหลังจากติดตั้งผ้าเบรกชุดใหม่ไป 4-5 เดือน และจากการสอบถามพบว่ามีการขับขี่ค่อนข้างเร็ว ขณะเดียวกันน้ำหนักที่ใช้ในการบรรทุกรวมน้ำหนักรถประมาณ 24-25 ตัน ซึ่งอาการที่พบคือ เบรกไม่อยู่ และเมื่อถอดล้อรถออกพบว่า
ผ้าเบรกแตกหัก
ผลจากการวิเคราะห์
1. จากภาพที่ 1 ผ้าเบรกที่มีการแตกหักนั้นอยู่บริเวณเพลาหลังด้านขวา ซึ่งสามารถประเมินได้ว่าการแตกหักของผ้าเบรกดังกล่าว อาจเกิดจากการประกอบติดตั้ง ระบบเบรกหรืออุปกรณ์เบรกที่ไม่สมบูรณ์ หากปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากผ้าเบรกที่นำไปติดตั้ง ควรมีการแตกหักแบบกระจายหลายล้อหรือเกิดการแตกหักทั้งหมดในชุดเพลาเดียวกัน ดังนั้นโอกาสที่เกิดขึ้นจากตัวผ้าเบรกแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ภาพที่ 2
2. จากภาพที่ 2 ผ้าเบรกทั้งสองชิ้นมีการสึกหรอบริเวณรูรีเวทและรูรีเวทมีการขยาย จากสภาพชิ้นงานรูรีเวทมีการสึกหรอแตกร้าวและหลุดออกไปบางส่วน เนื่องจากการย้ำ/ตอกรีเวทไม่แน่นทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของผ้าเบรกไป – มาตามทิศทางการหมุนของล้อ ส่งผลให้รูรีเวทซึ่งเป็นส่วนที่บางที่สุดเกิดการเสียดสีและสึกหรอไปเรื่อยๆ จนกระทั้งรูรีเวทขยายใหญ่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผ้าเบรกหลุดออกจากฝักเบรก โดยลักษณะการหลุดของผ้าเบรกจะหลุดออกเฉพาะตัวผ้าแต่ตัวรีเวทจะยังติดอยู่กับฝักเบรก
ภาพที่ 3
3. จากภาพที่ 3 พบว่าผ้าเบรกมีลักษณะการแตกหักเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ยังมีความหนาอยู่มาก จากภาพพบว่าผ้าเบรกเคลื่อนตัวหลุดออกจากฝักเบรกแล้วและตัวผ้าเบรกจะอยู่ไม่ตรงกับรูรีเวทที่มีการย้ำ/ตอกรีเวทไว้ แต่ตัวรีเวทยังอยู่ที่เดิมบนฝักเบรก ดังนั้นเมื่อมีการเคลื่อนตัวของผ้าเบรกที่หลุดออกไม่ตรงกับจุดเดิมอาจจะทำให้ขณะที่เบรกทำงาน แรงที่กดลงไปจะกดให้ผ้าเบรกแตกหักในจุดที่มีหัวของรีเวทค้ำอยู่ด้านล่างหรืออาจจะไม่โดนส่วนใดส่วนหนึ่งของชุดเบรกแล้วในขณะที่เบรกทำงานแรงที่กดลงไปจะกดให้ผ้าเบรกแตกหักซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้งจึงทำให้ผ้าเบรกแตกเป็นชิ้นเล็กๆ
ลักษณะการแตกหักจากย้ำ/ตอกรีเวทไม่แน่น
ลักษณะการย้ำ/ตอกรีเวท
ภาพที่ 4
ลักษณะการย้ำ/ตอกรีเวทผ้าเบรกควรแนบสนิทกับฝักเบรกไม่ควรมีการขยับของตัวผ้าเบรก และตัวรีเวทควรจะบานออกอย่างเหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไปดังภาพที่ 4 และความสูงของตัวรีเวทย้ำหรือตอกแล้วไม่ควรบางเกินไปและไม่ควรหนาเกินไป
ภาพที่ 5
ลักษณะการย้ำ/ตอกรีเวทผ้าเบรกไม่แน่นจะมีระยะห่างระหว่างผ้าเบรกกับฝักเบรกดังภาพที่ 5 ซึ่งจะส่งผลให้ผ้าเบรกสามารถเคลื่อนที่ได้เล็กน้อย หากถูกประกอบและนำไปใช้งานด้วยภาระของตัวรถและแรงในขณะเบรกอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับผ้าเบรกได้ ดังที่เกิดกับรถคันดังกล่าวครับ
เพราะเราคือ Compact Brake ผู้เชี่ยวชาญด้านเบรกจึงรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ทุกผลิตภัณฑ์ด้วยความใส่ใจ
และความเข้าใจของผู้ใช้งานจริงมาโดยตลอด เพื่อความปลอดภัยในตัวท่านและครอบครัว